Top
แมลงศัตรูพืชที่สำคัญในทุเรียน

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากมีความต้องการบริโภคทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศในปริมาณมาก ดังนั้นการจัดการดูแลทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจำเป็นต้องรู้ เพื่อให้มีการจัดการที่เหมาะสม 

ปัญหาหนึ่งในการปลูกทุเรียน คือ แมลงศัตรูพืชที่ระบาดและเข้าทำลายทุเรียน แมลงศัตรูพืชบางชนิดทำให้ต้นทุเรียนตาย บางชนิดทำให้ผลผลิตลดลง และบางชนิดทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ หรือ ผลผลิตเสียหายจนนำไปขายไม่ได้

วันนี้มิสเตอร์คิว จึงขอพูดถึงแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ 5 ชนิด ที่สร้างความเสียหายให้แก่ทุเรียน ได้แก่

1. เพลี้ยไฟ (Thrips)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Scirtothrips dorsalis Hood

ในทุเรียนสามารถพบเพลี้ยไฟหลายชนิดทำลายในระยะพัฒนาการต่างๆ แต่ที่พบมากและสำคัญที่สุด คือ เพลี้ยไฟพริก (Scirtothrips dorsalis Hood) เพลี้ยไฟจะระบาดรุนแรงในช่วงแล้งระหว่างเดือนธันวาคม–พฤษภาคม ซึ่งตรงกับระยะที่ต้นทุเรียน ออกดอกติดผล เพลี้ยไฟจะมีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์สามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างมาก

ลักษณะการเข้าทำลาย
ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืช  มีผลทำให้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ใบโค้ง แห้ง หงิกงอ และไหม้การทำลาย ในช่วงดอก ทำให้ดอกแห้ง ดอกและก้านดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แคระแกร็น และร่วงได้และในช่วงผลอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หนามเป็นแผลและเกิดอาการปลายหนามแห้งผลไม่สมบูรณ์และแคระแกร็น 

รูปร่างลักษณะ
เพลี้ยไฟพริกมีลำตัวสีเหลือง หรือสีน้ำตาลอ่อน ขอบปีกมีเส้นขนเป็นแผง เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไข่มีขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วสีขาว ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อพืชบริเวณ ใกล้เส้นกลางใบ ตัวเมียวางไข่วันละ 2-3 ฟอง ระยะไข่ประมาณ 6-9 วัน ตัวอ่อนที่เพิ่งฟักใหม่มีสีเหลืองอ่อน ตัวอ่อนวัยที่สองมีสีเหลืองส้ม โดยมีระยะตัวอ่อนวัยแรก และวัยที่สองเฉลี่ย 4.3-5.7 วัน ดักแด้และระยะดักแด้ใช้เวลาเฉลี่ย 2.9-4.1 วัน และมีสัดส่วนของเพศเมียต่อเพศผู้เท่ากับ 4 : 1 สรุปไว้ว่า ระยะตัวอ่อน 6-7 วัน จึงเตรียมเข้าดักแด้1-2วัน และตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 22 วัน ตัวเมียแต่ละตัววางไข่เฉลี่ย 60 ฟอง

พืชอาหาร
เพลี้ยไฟพริกระบาดทำลายไม้ผลได้หลายชนิดเช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วงเงาะ ส้มโอส้มเขียว หวาน ลิ้นจี่และลำไย


ศัตรูธรรมชาติ
ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไฟ เช่น แมงมุมชนิดต่างๆ ตัวอ่อนแมลงช้าง และเพลี้ยไฟตัวห้ำ

การป้องกันกำจัด
> เมื่อพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรงใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ย ได้แก่ อิมิดาคลอพริด (imidacloprid)10% SL อัตรา 20 ซีซี หรือ ฟิโพลนิล (fipronil) 5% SC อัตรา 10 ซีซี หรือ ไทอะมีทอกแซม(thiamethoxam) 25% WG อัตรา 2-4 กรัม หรือ คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) 20% EC อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
> ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิด หนึ่งซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เพราะทำให้เพลี้ยไฟสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง

-----------------------------

2. เพลี้ยแป้ง (Mealybug)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Planococcus minor (Maskell)
                   Planococcus lilacinus (Cockerell)
                   Pseudococcus cryptus Hampel

เพลี้ยแป้งเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ พบการระบาดทำความเสียหายต่อทุเรียนในแหล่งปลูกทั่วไป เพลี้ยแป้งจะระบาดทำความเสียหายแก่ผลทุเรียนตั้งแต่ระยะที่ทุเรียนเริ่มติดผล จนกระทั่งผลโต เต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว หรือ กลางเดือนกรกฎาคมสำหรับทุเรียนรุ่นหลัง

ลักษณะการเข้าทำลาย
เพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน ผลแก่ โดยมีมดแดง และมดดำช่วยคาบพาไปตามส่วนต่าง ๆ ของ พืชส่วนที่ถูกทำลายจะแคระแกร็น และชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้เพลี้ยแป้งจะขับน้ำหวาน (honeydew) ออกมา เป็นเหตุให้ราดำเข้าทำลายซ้ำ ถ้าเพลี้ยแป้งเข้าทำลายทุเรียนผลเล็กจะทำให้ผลแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโตต่อไป แต่ถ้าเป็นทุเรียนผลใหญ่จะไม่มีความเสียหายต่อเนื้อทุเรียน แต่ทำให้คุณภาพของผล ทุเรียนเสียไป ราคาผลผลิตต่ำ

รูปร่างลักษณะ
เพลี้ยแป้งเพศเมียมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีสีเหลืองอ่อน หรือชมพูลักษณะอ้วนสั้น มีผงสีขาวคล้ายผงแป้งปกคลุมลำตัวอยู่ ไข่เป็นกลุ่ม จำนวนไข่แต่ละกลุ่ม 100-200 ฟอง เพศเมียตัวหนึ่ง สามารถวางไข่ได้600-800 ฟอง ในเวลา 14 วัน ไข่จะฟักอยู่ในถุงใต้ท้องเพศเมีย ระยะไข่ ประมาณ 6-10 วัน ส่วนเพศเมียเมื่อหยุดไข่ก็จะตายไป ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีสีเหลืองอ่อน ไม่มีผงสีขาว ตัวอ่อนจะ คลานออกจากกลุ่มไข่เพื่อหาที่ๆ เหมาะสมเพื่ออยู่อาศัย เพศเมียมีการลอกคราบ 3 ครั้ง และไม่มีปีก ส่วนเพศผู้ ลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีกและมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพศเมียจะวางไข่หลังการลอกคราบครั้งที่ 3 เพลี้ยแป้ง สามารถขยายพันธุ์ได้2-3 รุ่น ใน 1 ปี ในระยะที่พืชอาหารไม่เหมาะสม เพลี้ยแป้งอาศัยอยู่ใต้ดินตามรากพืช เช่น หญ้าแห้วหมูโดยมีมดที่อาศัยกินสิ่งที่ขับถ่ายของเพลี้ยแป้งเป็นตัวพาไปอาศัยตามส่วนต่างๆ ของต้นทุเรียน

พืชอาหาร ทุเรียน มังคุด เงาะ และ สับปะรด

ศัตรูธรรมชาติ
พบด้วงเต่าในวงศ์Coccinellidae เป็นแมลงห้ำ 3 ชนิด คือ Cryptolaemus montrouzieri, Scymnus sp. และ Nephus sp.

การป้องกันกำจัด
> เมื่อพบเพลี้ยแป้งปริมาณน้อยบนผลทุเรียนใช้แปลงปัด หรือใช้น้ำพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุด 
> เนื่องจากเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดโดยมีมดพาไป การป้องกันโดยใช้ผ้าชุบสารฆ่าแมลง เช่น เมลาไทออน (malathion 83% EC) อัตรา20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล (carbaryl 85% WP) อัตรา10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ตามกิ่งสามารถป้องกันไม่ให้มดคาบเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่าง ๆ ของทุเรียน และต้องชุบสารฆ่าแมลงซ้ำทุก 10 วัน หรือการพ่นสารฆ่าแมลงไปที่โคนต้น จะช่วยป้องกันมด และลดการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้มาก
> สารฆ่าแมลงที่ได้ผลในการควบคุมเพลี้ยแป้ง คือ ไทอะมีทอกแซม(thiamethoxam) 25% WG อัตรา 2-4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยแป้งทำลาย

-----------------------------

3. หนอนเจาะผล (Fruit Borer)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Conogethes punctiferalis Guenee

ลักษณะการเข้าทำลาย
หนอนเจาะผลเป็นศัตรูทุเรียนที่สำคัญพบระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกทุเรียนทั่วประเทศ หนอนเจาะ ผลจะเข้าทำลายทุเรียนได้ตั้งแต่ผลยังเล็ก อายุประมาณ 2 เดือน ไปจนถึงผลโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว ทำ ให้ผลเป็นแผล อาจทำให้ผลเน่าและร่วงเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ การที่ผลมีรอยแมลงทำลายทำให้ขาย ไม่ได้ราคา ถ้าหากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อผล ทำให้บริเวณดังกล่าวเน่าเมื่อผลสุก ที่บริเวณเปลือกของ ผลทุเรียนจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจน และจะมีน้ำไหลเยิ้มเมื่อทุเรียนใกล้แก่ ผลทุเรียน ที่อยู่ชิดติดกันหนอนจะเข้าทำลายมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะแม่ผีเสื้อชอบวางไข่ในบริเวณรอยสัมผัสนี้

รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยของหนอนเจาะผลเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดค่อนข้างเล็ก ปีกทั้งคู่มีสีเหลืองถึงส้ม มีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วปีก วางไข่ไว้บนเปลือกผลทุเรียน ระยะไข่ 4 วันหนอนวัยแรกมีสีขาว หัวสีน้ำตาล แทะกินผิวทุเรียนก่อน เมื่อโตขึ้นจึงเจาะกินเข้าไปในเปลือกผลทุเรียน ตัวหนอนวัยต่อมามีลักษณะสีน้ำตาลอ่อน และมีจุดสีน้ำตาลเข้มประอยู่บริเวณหลังตลอดลำตัว และมีหัว สีน้ำตาลเข้ม หนอนจะเข้าดักแด้อยู่ระหว่างหนามของผลทุเรียนโดยมีใย และมูลของหนอนหุ้มตัว ระยะหนอน 12-13 วัน ระยะดักแด้ 7-9 วัน ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้ 10-18 วัน และเพศเมีย 14-18 วัน

พืชอาหาร
แมลงชนิดนี้พบทั่วไปตลอดทั้งปีเนื่องจากมีพืชอาศัยกว้าง นอกจากทุเรียนแล้วมีรายงานว่า หนอน ชนิดนี้ทำลายผลไม้ชนิดอื่น เช่น มะหวด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ทับทิม ละหุ่ง หม่อน และโกโก้

ศัตรูธรรมชาติ แตนเบียน Apanteles sp.

การป้องกันกำจัด
> ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าว ขั้นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่ หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย
> การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่นเจาะรูที่บริเวณขอบล่าง เพื่อให้หยด น้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไปจะช่วยลดความเสียหายได้
> สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้คือ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน (lambdacyhalothrin) 2.5 % EC อัตรา 20 ซีซี ฉีดพ่นในช่วงผลทุเรียนอายุ 6-10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง  หรือพ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผล

-----------------------------

4. ไรแดงแอฟริกัน (African red mite)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eutetranychus africanus (Tucker)

 ไรแดง ระบาดในระยะที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง อากาศแห้งแล้งและมีลมพัดแรง จะพบไรแดงสูงที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จากนั้นไรแดงจะค่อยๆ ลดลง ปริมาณอาจสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งแล้งจัด และพบระบาดน้อยมากในช่วงฤดูฝน

ลักษณะการเข้าทำลาย
ไรแดงทุเรียนดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่บริเวณผิวใบทุเรียน ทำให้เกิดเป็นจุดปะ สีขาวกระจายอยู่ทั่วบนใบ ต่อมาจุด ปะสีขาวจะแผ่ขยายออกไปเป็นบริเวณกว้าง จนใบมีอาการขาวซีดและมีคราบสีขาวเกาะติดเป็นผงขาวๆ คล้ายฝุ่นจับ ถ้าหากมีไรแดงทำลายเป็นปริมาณมากและต่อเนื่องจะทำให้ใบร่วงและมีผลกระทบต่อการออกดอกและติดผลของทุเรียน ต้นทุเรียนจะเกิดความเสียหายจากไรแดงเมื่อใบแก่ถูกทำลายมากกว่าร้อยละ 25 ของใบที่สำรวจ

ศัตรูธรรมชาติ
ไรตัวห้ำ Amblyseius sp., แมลงวันขายาว Dolichopus sp., แมลงช้างปีกแป้ง Coniopteryx sp., ด้วงเต่า Stethorus sp., ด้วงคล้ายมด Anthecus sp., เพลี้ยไฟตัวห้ำ Unidentified sp., แมงมุม Uroboridae

การป้องกันกำจัด
> หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียนหรือบริเวณใกล้เคียง ถ้าเกษตรกรมีรายได้ จากพืชเหล่านั้น เช่น ส้ม มะละกอ มะนาว หรือพืชตระกูลถั่ว ก็ควรป้องกันกำจัดไรแดงชนิดนี้บนพืชอาศัยนั้นด้วย
> ใช้ระบบน้ำเหวี่ยงหรือเครื่องฉีดพ่นน้ า 1 - 2 ชั่วโมงต่อวัน ให้ใบทุเรียนเปียกโชกทั่วทรงพุ่มเพื่อลดปริมาณ ไรแดงในช่วงฤดูแล้งให้อยู่ในระดับต่ำ (วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความชื้นให้กับศัตรูธรรมชาติให้ สามารถดำรงชีวิตอยู่และเพิ่มปริมาณสูงขึ้นในช่วงแล้ง ซึ่งจะควบคุมประชากรของไรแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
> สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้คือ เฟนไพรอกซิเมต 5% W/V SC อัตรา 10-20 ซีซี ต่อนำ้ 20 ลิตร ฉีดพ่นทั้งต้นโดยเฉพาะบริเวณยอดเมื่อพบไรแดงระบาด พ่นซ้ำตามความจำเป็น และงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน ไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรมีการสลับชนิดเพื่อป้องกันไรแดงเกิดความต้านทาน

-----------------------------

5. เพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียน (Durian Armored scale) หรือเพลี้ยนาสาร
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aulacaspis vitis

ลักษณะการเข้าทำลาย 
เพลี้ยหอยเกล็ดทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด ตา กิ่ง และขั้วผล เมื่อมีการระบาดรุนแรงจะทำให้ส่วนต่างๆ ของพืช เหลืองหรือแห้งตาย การระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียน มักจะมีการระบาดเป็นกลุ่มๆ เนื่องจากแมลงชนิดนี้จะเคลื่อนที่ได้เฉพาะระยะตัวอ่อนวัยที่ 1 (Crawler) เท่านั้น เมื่อมีการลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตไปสู่วัยต่างๆ โดยคราบเก่าจะอยู่ด้านข้างของแผ่นปกคลุมลำตัวซึงจะขยายขนาดใหญ่ออกเรื่อยๆ ตามระยะการเจริญเติบโต ดังนั้นเมื่อเพลี้ยหอยเกล็ดระบาดปกคลุมทั่วทั้งใบ จะทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้

การป้องกันกำจัด
> เมื่อพบเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียนปริมาณน้อยบนใบใช้นำ้าผสม white oil อัตรา 20 ซีซ๊ ต่อนำ้ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วช่วยในการกำาจัดเพลี้ยหอยเกล็ดได้ดี
> การกำจัดเพลี้ยหอยเกล็ดโดยสารเคมี ต้นทุเรียนที่พบการระบาดมากถ้าขนาดไม่ใหญ่มาก (สูงไม่เกิน 3 เมตร) โรยโคนต้นด้วยไดโนทีฟูแรน 1%G แล้วรดน้ำ อัตรา 10-20 กรัมต่อต้น ห่างกัน 2-3 อาทิตย์ หรือใช้อิมิดาคลอพริด (imidacloprid)10% SL อัตรา 20 ซีซี หรือ  ไทอะมีทอกแซม(thiamethoxam) 25% WG อัตรา 2-4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร รดโคนต้นทุก 2 อาทิตย์ กรณีพ่นทางใบของกรมวิชาการเกษตรพ่นด้วยสารกลุ่ม 1 คือ มาลาไทออน 83%EC อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร และไทอะมีทอกแซม 25%WG ผสมน้ำอัตรา 2.5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 

-----------------------------

ข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.doa.go.th/share/attachment.php?aid=2977

https://kasetgo.com/t/topic/209904

บทความที่เกี่ยวข้อง
การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย
อาการขาดธาตุอาหารของพืช
ข้อมูลแถบสีบนฉลากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ข้อแตกต่างระหว่างหนอนผีเสื้อ VS หนอนแมลงวัน ชอนใบในมะเขือเทศ
โรคใบด่างจุดวงแหวนในมะละกอ
ผังแสดงตารางการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิด
การระบาดของศัตรูพืชช่วงหน้าร้อน
น้ำตาลทางด่วน VS กรดอะมิโน
การปลูกพืชใช้ดินอะไรดี
โรคยอดฮิตในมะละกอ
แนวทางการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง
เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน
เพลี้ยไก่แจ้ส้ม และการป้องกัน
7 วิธีดูแลรักษาไม้ผลในช่วงแล้ง
โรคพืชที่มีสาเหตุมาจากไวรัสในพริก
การตรวจวิเคราะห์ดิน
มารู้จักกับหนอนชอนใบผีเสื้อมะเขือเทศ
โรคราแป้งในเงาะ
รู้ไหมว่าเชื้อ "บีที" คืออะไร
น้ำฝนต่อการเจริญเติบโตของพืช
การดูแลผักในฤดูฝน
ทุเรียนเต่าเผา ทุเรียนไส้ซึม
แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?
โรคเมลาโนสในส้ม
การฉีดพ่นสารทางใบให้ถูกวิธี
การฝังเข็มรักษาโรครากเน่าโคนเน่าอย่างไรให้ได้ผล
เพลี้ยหอยในส้ม
เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน
โรคใบจุดสาหร่ายในทุเรียน
โรคใบจุดตากบในพริก
โครงการแก้มลิง
7 วิธีกำจัดหอยทากอย่างปลอดภัย
หนอนม้วนใบส้ม (Citrus leaf-roller)
5 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับกระท่อม
การดูแลต้นไม้หลังน้ำลด
ระวัง ไรขาวและโรคกุ้งแห้งระบาดในพริก
โรคกิ่งแห้งทุเรียน จากเชื้อฟิวซาเรียม
โรคราสีชมพูในทุเรียน
หนอนหน้าแมวศัตรูต้วร้ายปาล์มน้ำมัน
โรคเน่าคอดินในผักกินใบ
แมลงศัตรูพืชที่ระบาดในหน้าหนาว
โรคพืชที่ต้องระวังในฤดูหนาว
3 ตัวห้ำ แมลงดีในแปลงเกษตร
ธาตุรอง และ จุลธาตุ ธาตุอาหารสำคัญที่พืชขาดไม่ได้
โรคพืชในทุเรียน
ปลูกมังคุดต้องระวัง (โรคและแมลง) อะไรบ้าง
การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ
8 เทคนิคการจัดการปุ๋ย
มาทำความรู้จัก ปุ๋ยไนโตรเจนกันเถอะ
โรคและแมลงศัตรูพืชยอดฮิตในพริก
วิธีการดูทุเรียนสุก
โรคและแมลงศัตรูพืชที่พบบ่อยในผักตระกูลกะหล่ำ
การขาดธาตุแมงกานีสในทุเรียน
แมลงและโรคพืชที่ต้องระวังในส้ม
6 เรื่อง...ที่ต้องรู้ก่อนซื้อสารกำจัดศัตรูพืช
อาการ...ขาดธาตุโบรอน ในปาล์มน้ำมัน
อาการขาดธาตุสังกะสี
อาการขาดธาตุแมกนีเซียมในปาล์มน้ำมัน
โรคใบติดทุเรียน ภัยร้าย ทำลายพืช !!
วิธีการฟื้นฟู และดูแลต้นไม้หลังน้ำลด
สีของดินบอกอะไรบ้าง?
4 หลักการใส่ปุ๋ยเคมีให้คุ้มค่า
มารู้จัก แมลงศัตรูพืช กันเถอะ
ประโยชน์ของธาตุแคลเซียมที่มีต่อพืช
การดูแล "ผักสลัด" ในหน้าร้อน ทั้งในและนอกโรงเรือน
5 แมลงศัตรูพืชที่สำคัญในส้ม
บำรุงดินด้วยวิธีธรรมชาติ เคล็ดดลับดูแลต้นไม้แบบประหยัด
ปัญหาพืชหน้าฝน โรครากเน่า โคนเน่า
โรคร้ายทำลายข้าว
อาหารทางใบฉีดพ่นยังไงให้ได้ผล
สารกำจัดศัตรูพืช ยาร้อน ยาเย็น ดูอย่างไร?
โรคพืชที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
โรคพืชในส้มที่ควรระวัง