หนอนหน้าแมวในปาล์ม
ชื่ออื่น : หนอนดาน่า
ชื่อสามัญ : The Oil Palm Slug Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Darna furva Wileman
ชื่อวงศ์ : Limacodidae
ชื่ออันดับ : Lepidoptera
ช่วงการระบาด
มักจะพบการระบาดของหนอนหน้าแมวในช่วง ต.ค.-เม.ย. และสามารถเข้าทำลายสวนปาล์มในทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะต้นปาล์มที่อายุ 3-5 ปี
ลักษณะการเข้าทำลาย
ตัวหนอนจะกัดทำลายใบ หนอนตัวเล็กจะกัดกินผิวใบ เมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะกัดกินจนใบขาด หากเกิดการระบาดรุนแรง ใบปาล์มจะถูกกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ต้นชะงักการเจริญเติบโต และต้องใช้เวลานานในการฟื้นต้น เพราะเมื่อเกิดการระบาดแต่ละครั้ง การกำจัดหนอนต้องใช้เวลานาน เนื่องจากในช่วงระยะเวลาเดียวกันมีหนอนเกิดขึ้นหลายระยะ มีทั้งระยะหนอน ระยะดักแด้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดให้หมดในเวลาเดียวกันได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดสูงและต้องติดตามการระบาดอย่างต่อเนื่อง
หนอนหน้าแมวในแต่ละระยะ
ระยะไข่ : รูปไข่สีใส แบนราบติดใบผิวเป็นมันคล้ายหยดน้ำค้าง ถ้าส่องกับแสงแดดจะทำให้เห็นไข่ชัดเจนขึ้น ผีเสื้อจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ กระจัดกระจายใต้ใบย่อยของทางใบปาล์มน้ำมัน มักจะพบไข่มากที่สุดบริเวณทางใบตอนล่างนับขึ้นมาจนถึงทางใบที่ 17 และพบบริเวณค่อนไปทางปลายใบเป็นส่วนใหญ่
ระยะหนอน : หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ ๆ มีสีขาวใส และมีสีน้ำตาลอยู่กลางลำตัว มีกลุ่มขนบนลำตัว 4 แถวเห็นไม่ชัดเจน ส่วนหัวหลบซ่อนอยู่ใต้ลำตัว เคลื่อนไหวช้า กินแทะผิวใบ หนอนที่เจริญเต็มที่มีขนาดลำตัวยาว 15-17 มิลลิเมตร มีกลุ่มขนข้างลำตัวข้างละ 11 กลุ่ม สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำแต้มสีเป็นรอยเว้ารูปสามเหลี่ยมจากด้านข้าง เข้าหากึ่งกลางลำตัว ปลายยอดสามเหลี่ยมห่างกันเล็กน้อย ภายในสามเหลี่ยมสีตองอ่อนมีขอบเป็นสีเหลือง ส่วนท้ายลำตัวมีสีเหลือง กลางหลังของลำตัวมีเส้นประสีเหลืองและจุดสีดำขนานไปกับกลุ่มขนสีดำอีก 2 แถว
ระยะดักแด้ : รังดักแด้สีน้ำตาล รูปทรงกลม ขนาดกว้าง 5 - 6 มิลลิเมตร ยาว 7 - 8 เมตร อยู่ตามซอกโคนทางใบซอกมุมของใบย่อย หรือตามใบพับของใบย่อย
ระยะตัวเต็มวัย : เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เวลากลางวันผีเสื้อเกาะนิ่งหุบปีกไม่เคลื่อนไหว จะเคลื่อนไหวบินในช่วงพลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า
การป้องกันกำจัด
หมั่นสำรวจการระบาดของหนอนหรือผีเสื้อที่เป็นศัตรูของปาล์มน้ำมันเป็นประจำ
ตัดทางใบปาล์มน้ำมันที่มีหนอนหรือจับผีเสื้อที่เกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบ หรือเก็บดักแด้ตามซอกโคนทางใบรอบต้นมาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก
ใช้กับดักแสงไฟ black light หรือหลอดนีออนธรรมดาวางบนกะละมังพลาสติกที่บรรจุน้ำผสมน้ำยาล้างจาน โดยให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ 5-10 เซนติเมตร นำมาวางล่อผีเสื้อ ช่วงเวลา 18.00-19.00 น. จะสามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้
ควรเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อศัตรูธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะแมลงศัตรูธรรมชาติในสวนปาล์มน้ำมันเหล่านี้มีความสามารถในการควบคุม หนอนได้อย่างดี
ฉีดพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) "บาเซียโน เอชซี" อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นเมื่อพบ หนอนหน้าแมว เข้าทำลายบริเวณผิวใบจะได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถทำลายกลุ่มหนอนผีเสื้อที่เข้าทำลายต้นปาล์มน้ำมัน และไม่เป็นอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์