เกษตรกรปลูกพริกควรเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสระบาด ซึ่งเมื่อโรคเกิดการระบาดแล้วจะควบคุมได้ยาก
สำหรับโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ที่สำคัญของพริกได้แก่
1. โรคใบด่าง พบต้นพริกเตี้ย แคระแกร็น ใบมีอาการด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน บิดเบี้ยว ผิดรูปร่างและลดขนาดเรียวเล็กลง อาจพบจุดแผลตายเฉพาะแห่งสีน้ำตาลบนใบ ดอกหลุดร่วงง่าย ผลมีผิวขรุขระ ขนาดเล็กลง และอาจพบอาการด่างบนผลพริก
2. โรคเส้นใบด่างประ พบอาการใบด่างสีเขียว หรือเหลืองสลับเขียวเข้ม และมีขีดหรือจุดประสีเขียวเข้มตามเส้นกลางใบ ใบลดรูป มีขนาดเล็กลงและบิดเบี้ยว ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะต้นกล้า ต้นจะแคระแกร็น แตกกิ่งด้านข้างลดลง ติดดอกน้อยลง ดอกร่วงก่อนติด ผล หากติดผลผลจะมีขนาดเล็ก ด่างและบิดเบี้ยว
3. โรคใบหงิกเหลือง พบอาการใบด่างเหลือง เป็นขีดหรือหย่อมโปร่งแสงระหว่างเส้นใบ บางครั้งเส้นใบย่อยมีสีเหลืองและสานเป็น ร่างแหบริเวณโคนใบ ใบโค้งงอ หงิกย่น บิดเบี้ยว ยอดเป็นกระจุก ต้นแคระแกร็น ผลพริกด่าง บิดเบี้ยว และมีขนาดเล็กผิดปกติ
การควบคุมและการป้องกันกำจัด
1. ใช้พันธุ์พริกที่ต้านทานโรค
2. ไม่นำผลพริกจากต้นที่เป็นโรค มาเพาะขยายพันธุ์ โรคพริกที่เกิดจากเชื้อไวรัส
3. ควรเพาะกล้าพริกในมุ้งกันแมลง และคัดเลือกกล้าพริกที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคมาปลูก
4. หมั่นตรวจแปลงปลูก หากพบพริกที่แสดงอาการของโรคให้ถอนและนำไปเผาทำลายนอกแปลงทันที
5. หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ เช่น สาบแร้ง สาบกา กะเม็ง หญ้ายางและกระทกรก
6. ไม่ปลูกพืชหมุนเวียนที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัส เช่น มะเขือต่างๆ ยาสูบ แตงกวา ฟักทอง บวบเหลี่ยม และ มะระจีน ในแปลงปลูกเดียวกัน
7. ไวรัสสาเหตุโรคพืช ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่สามารถเพิ่มภูมิต้านทานให้พืชแข็งแรงขึ้นได้ด้วย
> ฉีดพ่นสารเวโล อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 10-15 วัน/ ครั้ง เพื่อช่วยให้พืชแข็งแรงป้องกันการเข้าทำลายของโรคพืชได้
8. ป้องกันการระบาดของโรคได้ โดยพ่นสารกำจัดแมลงพาหะนำโรค ดังนี้
> แมลงหวี่ขาว ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
> เพลี้ยอ่อน ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน่ำ 20 ลิตร